โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี ๒๕๖๕

474 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี ๒๕๖๕
 

ด้วยอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมพร้อมทั้งบำรุงและ
ส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎรให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จึงสำรวจปัญหาความต้องการของกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่
พบว่าในพื้นที่ตำบลสิงห์ มีการเลี้ยงสัตว์อยู่หลายชนิด ได้แก่ ไก่พื้นเมือง แพะ
โคเนื้อ สุกร ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะเลี้ยงแพะ โคเนื้อ และสุกรเพื่อเป็นรายได้เสริม
ของครัวเรือน แต่รายได้ดังกล่าวหมดไปกับการลงทุนค่าอาหาร
และการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ที่สูง เช่น การขาดแคลนอาหารสัตว์
การขาดพ่อแม่พันธุ์สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์ มีคุณภาพตามความต้องการของท้องตลาด
ดังนั้น แผนงานเกษตร จึงพิจารณาความสำคัญของปัญหาดังกล่าว
เสนอจัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โดยใช้เทคโนโลยีการผสมเทียมโคเข้ามาช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์
ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือประชาชนในพื้นที่จะสามารถสร้างทางเลือก
ในการประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้
และสามารถเพิ่มคุณภาพยกระดับสายพันธุ์ให้กับโคเนื้อในพื้นที่เพิ่มโอกาส
ในการการตลาดให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย
 
ขอบเขตแนวทางการดำเนินงาน
กิจกรรมที่ ๑ 
ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่
ดังนี้
o ดำเนินการสำรวจข้อมูลหรืออบรมให้ความรู้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่
o ติดต่อประสานงาน พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมอาชีพ
การเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ เช่น งานผสมเทียมโค และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่
และตามภารกิจถ่ายโอน
 
ผลการดำเนินงาน
การดำเนินงานผสมเทียมโคเนื้อ 
แผนงานการเกษตร สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสิงห์ ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ตามคำร้องขอรับบริการผสมเทียมโค ประจำปี ๒๕๖๕ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑ ครัวเรือน 
การติดตามผลการดำเนินงานผสมเทียมโคเนื้อ
การติดตามผลการดำเนินงานผสมเทียมเมื่อปี ๒๕๖๔
จากวงจรการเลี้ยงสัตว์ของโคเนื้อ มีระยะผสมติดถึงคลอด
ใช้เวลาประมาณ ๒๘๒ วัน โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการให้บริการจนเกษตรกร
สามารถผลิตลูกโคเนื้อได้ จำนวน ๑ ตัว มีสายพันธุ์ดังนี้
๑) ลูกผสมสายเลือด บราห์มันแดง  เพศเมีย จำนวน ๑ ตัว
 
ปัญหา / อุปสรรค
๑ เจ้าหน้าที่ ขาดประสบการณ์ และทักษะเพิ่มเติมในการดำเนินงาน
๒ ปัญหาการผสมซ้ำ เป็นปัญหาที่พบในเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ ไม่ได้เลี้ยงหรือเฝ้าสัตว์เลี้ยงตลอดเวลาทำให้ไม่ทราบเวลาเกิดอาการเป็นสัดแน่ชัด ทำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ไม่ถูกและบางกรณีเมื่อพบสัตว์มีอาการเป็นสัด ก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่รีบดำเนินการทันที ตามความต้องการของเจ้าของสัตว์เลี้ยงเอง เป็นเหตุให้สัตว์เลี้ยงไม่ได้รับการผสมตรงตามเวลาที่เหมาะสม เสียหายต่อความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ผสมเทียมกับกลุ่มบุคคลอื่นไม่เข้าใจปัญหาข้างต้น แต่จะเข้าใจเพียงว่า เจ้าหน้าที่ผสมไม่ติด จึงมีส่วนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคท่านอื่นยังยึดติดกับการเลี้ยงและคงใช้พ่อโคผสมเหมือนเดิม มีเพียงกลุ่มผู้เลี้ยงบางกลุ่มที่เปลี่ยนมาใช้บริการและสามารถลดต้นทุนการผลิต พร้อม ๆ กับเพิ่มรายได้จากลูกโคที่ได้มาจากการผสมเทียม และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงพ่อโค ทำให้ปัจจุบัน ยังมีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขอรับบริการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
๓ ประชาชนผู้เลี้ยงโค มีทั้งสนใจและไม่สนใจในเทคโนโลยีการผสมเทียม เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่ จึงมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลา ถึงแม้จะสามารถกำหนดสายพันธุ์ได้และลดต้นทุนในการเลี้ยงได้อย่างมากก็ตาม

ข้อเสนอแนะในการนำไปแก้ปัญหา และพัฒนาปรับปรุงงานในอนาคต
๑ เจ้าหน้าที่ควรได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาเพิ่มเติมความรู้และนำมาปรับใช้ในหน้าที่ต่อไป
๒ การผสมเทียมโคที่ได้ผลดี จะต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่และเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพราะต้องอาศัยการสังเกตการเริ่มเป็นสัดและอาการของสัตว์ต่างๆ เพื่อประเมินเวลาการผสมเทียมที่เหมาะสม ลดอัตราการผสมซ้ำได้อย่างดี เจ้าหน้าที่ควรพัฒนาทักษะและเก็บข้อมูลศึกษาเปรียบเทียบเพื่อใช้อ้างอิงในการชี้แจ้งเหตุและผลให้เกษตรกรเข้าใจ และยอมรับฟัง พร้อมแนะนำวิธีสังเกตอาการต่างๆ จนทำให้เจ้าของสัตว์สามารถดูอาการสัตว์ได้
๓ ประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและสนใจการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนต่อไป

 
วันที่ดำเนินงาน :
ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ - ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕
 
ผู้รับผิดชอบโครงการ :
สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลสิงห์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้